post image

โรคข้อเข่าเสื่อมในผู้สูงอายุ

การป้องกันข้อเข่าเสื่อม หรือการดูแลข้อเข่า เพื่อยืดอายุการใช้งานของข้อเข่า

          โรคข้อเข่าเสื่อม หมายถึงโรคที่เกิดจากความเสื่อมของกระดูกอ่อนผิวข้อ ซึ่งสาเหตุความเสื่อมเกิดจาก อายุที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่อายุมากกว่า 60 ปี  น้ำหนักตัวมาก โรคบางชนิด เช่น โรครูมาตอยด์ หรือเคยได้รับอุบัติเหตุบริเวณข้อเข่า เป็นต้น ผู้ที่มีภาวะข้อเข่าเสื่อมมากๆจะพบอาการปวดเข่า เข่าบวม การเคลื่อนไหวลดลง มีลักษณะของข้อผิดรูป เดินได้ไม่ปกติ ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของผู้ที่มีอาการของโรคข้อเข่าเสื่อมลดลงได้

          จากข้อมูลสาธารณสุขพบอัตราการเกิดโรคข้อเสื่อมในประชากร โดยเฉพาะข้อเข่ามีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากปัจจุบันแนวโน้มผู้สูงอายุทั่วโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยองค์การอนามัยโลกคาดการณ์จำนวนผู้ป่วยโรคข้อเสื่อมปี พ.ศ. 2593 (ค.ศ.2050) ในผู้ที่อายุมากกว่า 60 ปี อาจมีจำนวนเพิ่มขึ้นได้ถึงร้อยละ 15 คิดเป็นจำนวนประชากรที่ป่วยเป็นโรคข้อเสื่อม โดยเฉพาะข้อเข่า ประมาณ 130 ล้านคน  ซึ่งสอดคล้องกับประเทศไทยที่มีอุบัติการของผู้ป่วยโรคข้อเสื่อมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน จากสถิติผู้ป่วยโรคกระดูกและข้อปีพ.ศ. 2553 พบผู้ป่วยโรคข้อเสื่อมมากกว่า 6 ล้านคน ในจำนวนนี้พบสาเหตุจากโรคข้อเข่าเสื่อมมากที่สุด  นอกจากนี้โรคข้อเข่าเสื่อมยังเป็น 1 ใน 10 โรคอันเป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดภาวะทุพพลภาพของผู้สูงอายุในประเทศไทยอีกด้วย


โรคข้อเข่าเสื่อม เป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของกระดูกอ่อนผิวข้อ ทั้งทางด้านรูปร่าง โครงสร้างการทำงานของกระดูกข้อต่อ และกระดูกบริเวณใกล้ข้อ โดยปัจจัยที่มีผลต่อความเสื่อมของข้อเข่า ได้แก่

  • อายุ โดยอายุที่มากกว่า 60 ปี เป็นข้อเข่าเสื่อมได้ร้อยละ 40
  • เพศ พบว่าเพศหญิงจะพบข้อเข่าเสื่อมมากกว่าเพศชาย 2-3 เท่า
  • น้ำหนักตัว มีความสัมพันธ์อย่างมากกับข้อเข่าเสื่อม พบว่าน้ำหนักตัวทเพิ่มขึ้น 0.5 กิโลกรัม จะเพิ่มเเรงกระทำต่อข้อเข่า  1-1.5 กิโลกรัม
  • การใช้งาน ท่าทาง กิจกรรมที่มีเเรงกดต่อข้อเข่ามาก เช่น การนั่งคุกเข่า พับเพียบ ขึ้นลงบันได
  • ความบกพร่องของส่วนประกอบของข้อ
  • เคยประสบอุบัติเหตุ หรือบาดเจ็บเรื้อรังบริเวณข้อเข่าจากการทำงานหรือเล่นกีฬา


อาการ ในระยะแรกจะเริ่มปวดเข่าเมื่อเคลื่อนไหว ข้อฝืดขัด แต่หากมีภาวะข้อเสื่อมรุนเเรงอาจคลำส่วนกระดูกงอกได้บริเวณข้างข้อ ข้อบวม เหยียดหรืองอเข่าไม่สุด ข้อเข่าโก่งหรือบิดเบี้ยวผิดรูป ซึ่งส่งผลกับการเดินเเละทำให้ใช้ชีวิตประจำวันได้ลำบาก


วิธีการถนอมข้อ เพื่อชะลออาการได้แก่ ปรับเปลี่ยนอิริยาบถ เช่น การนั่งเก้าอี้เเทนการนั่งพื้น ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์สมส่วน ทานอาหารที่เหมาะสม และบริหารกล้ามเนื้อต้นขา เพื่อเพิ่มพิสัยการเคลื่อนไหวของข้อ และเพิ่มกำลังกล้ามเนื้อให้เเข็งแรง


          สำหรับผู้สูงอายุหรือคนอ้วนที่มีภาวะข้อเข่าเสื่อมมากๆ จะมีอาการเจ็บหรือปวด ทำให้การเดินหรือการปฏิบัติภารกิจประจำวันต่าง ๆ ทำได้ไม่สะดวก ส่งผลกระทบให้เกิดความทรมานทั้งด้านร่างกายและจิตใจ แน่นอนว่าการดูแลผู้ที่มีปัญหาข้อเข่าเสื่อมสามารถทำได้ยากดังนั้นท่านจึงควรได้รับคำแนะนำการใช้ข้อเข่า หรือได้รับการดูแลอย่างถูกต้อง จะมีส่วนช่วยให้อาการปวดทุเลา สามารถทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ ได้ดีขึ้น  Nest Nursing Home ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ ให้บริการดูแลผู้สูงอายุ กายภาพบำบัดฟื้นฟูผู้สูงอายุ หรือผู้ที่ต้องการฟื้นฟูสมรรถภาพทางด้านร่างกายและจิตใจ เพื่อส่งเสริมให้ศักยภาพของผู้สูงอายุ ให้ได้รับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เหมาะสม เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดและความรุนแรงของโรคข้อเข่า ทั้งยังเป็นการฟื้นฟูสภาพเข่าให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเมื่อท่านต้องกลับไปดูแลรักษาตัวเองที่บ้าน
 

หากคุณมีคำถามหรือต้องการความช่วยเหลือ
โปรดติดต่อทีมงานของเรา

Tel : 064-645-5045
Facebook : https://www.facebook.com/nestnursing
Line@ : https://line.me/ti/p/@nestnursing


อ้างอิงจาก
1. ศาสตราจารย์คลินิก น.พ.วิโรจน์ กวินวงศ์โกวิท และคณะ.โรคข้อเข่าเสื่อม.หนังสือคู่มือโรคข้อเข่าเสื่อม ภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี.2555;1-25.
2. who.int[internet].Osteoarthritis.Priority medicine for Europe and the world 2013 update.2013[cited 2020 September 30].Available from: https://www.who.int/medicines/areas/priority_medicines/Ch6_12Osteo.pdf
3. Nongpimol Nimit-arnun. The Epidemiological Situation and Risk Assessment of Knee Osteoarthritis among Thai People. Journal of The Royal Thai Army Nurses.2014;15:185-194.
4. ราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย.แนวปฏิบัติบริการสาธารณสุขโรคข้อเข่าเสื่อม พ.ศ. 2554 [อินเตอร์เน็ต];2554[เข้าถึงเมื่อ 30 กันยายน พ.ศ.2563].เข้าถึงได้จาก: www.rcost.or.th